Fortinet เปิดตัว “ซิเคียวริตีแฟบลิกใหม่” ปกป้องคุ้มภัยให้ IoT/คลาวด์

Fortinet เปิดตัวโครงสร้างซิเคียวริตีแฟบลิกใหม่ เน้นสร้างเกราะคุ้มครองความปลอดภัยครอบคลุมเครือข่าย IoT ถึงคลาวด์ให้แก่องค์กรทั่วโลก ต่อสู้กับภัยขั้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต และโมบายที่เติบโตขึ้นทุกวัน ระบบซิเคียวริตีแบบเดิมๆ จึงไม่เพียงพอในการป้องกันความปลอดภัยให้องค์กร

นายวิทยา จูงหัตถการสาธิต Channel Account Manager ฟอร์ติเน็ต อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ กล่าวว่า ปัจจุบัน พัฒนาการด้านเทคโนโยลีมีการเติบโตไปตามองค์กรธุรกิจอย่างมาก มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 3.2 พันล้านยูเซอร์ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 1.3 พันล้านราย โดยคาดว่าในปี 2020 จะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 3 พันล้านราย และมีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดกว่า 191 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในอนาคตคนส่วนใหญ่จะใช้โทรศัทพ์มือถือในการเชื่อมต่อข้อมูลมากยิ่งขึ้น ไวไฟจะมีความเร็วเป็น 100 กิก ตลอดจน UHDTV ที่มีประสิทธิภาพ

ในส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ ( IoT) และคลาวด์จะมีการใช้อย่างแพร่หลาย ประมาณการได้ว่า ในปี 2020 จะมีการเชื่อมโยงผ่าน IoT กว่า 25 พันล้านคอนเน็กชัน ทำให้เน็ตเวิร์กต้องการแบนด์วิธที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ระบบซิเคียวริตีแบบเดิมๆ จึงไม่เพียงพอในการป้องกันความปลอดภัยขององค์กรได้ดีพอ

ฟอร์ติเน็ต ผู้นำในโซลูชันด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก จึงได้เปิดตัว “ซิเคียวริตีแฟบลิกใหม่” เทคโนโยลีใหม่ที่ผสมผสานขึ้นมาจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และโปรโตคอลสื่อสาร เพื่อศักยภาพในการตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็ว มุ่งสร้างเกราะคุ้มกันภัย และด้วยซิเคียวริตีแฟบลิกใหม่นี้ ทำให้ฟอร์ติเน็ต เป็นรายเดียวที่สามารถให้การป้องกันภัยที่มาจากคลาวด์ และ IoT อย่างราบรื่น เป็นพื้นฐานสำหรับเครือข่ายในอนาคตที่ไร้ขอบเขตได้อย่างคุ้มค่า

ซิเคียวริตีแฟบลิกใหม่ เป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบหลอมรวม ทำงานประสานงานกัน ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้องค์กรมีเกราะป้องกันภัยคุกคามที่มากับ IoT และคลาวด์ ที่จะเข้ามาในเครือข่ายภายในองค์กร และกลับออกไปที่คลาวด์อีก

นอกจากนี้ ฟอร์ติเน็ต ยังเปิดตัวไฟร์วอลล์ระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ ซีรีส์ FortiGate 6000E and 2000E ที่ใช้คอนเทนต์โปรเซสเซอร์เน็กซ์เจเนอเรชันรุ่น FortiASIC CP9 content processor เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพความปลอดภัยเครือข่ายให้ได้ทั่วซิเคียวริตีแฟบลิกใหม่นี้ด้วย

ผู้บริหารฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ปัจจุบันมีอุปกรณ์ IoT ที่ไม่มีเจ้าของ และเลขไอพีใหม่เชื่อมโยงผ่านอุปกรณ์แอ็กเซสพอยนต์ตามสาย และไร้สายเข้ามาในเครือข่ายสาธารณะ และขององค์กร ผ่านโครงข่ายแบบเดิมๆ และโครงข่ายคลาวด์ และรับ-ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จำนวนนับพันล้านครั้ง ดังนั้น ในการเป็นผู้นำในการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิตอลนี้ องค์กรจำเป็นจะต้องมีกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยที่สามารถช่วยให้เห็น และบริหารข้อมูลที่เข้ามาในเครือข่ายได้ โดยไม่สูญเสียความคล่องตัว หรือประสิทธิภาพของเครือข่าย

โดยจุดเด่นของซิเคียวริตีแฟบลิกอยู่ที่การสร้างเกราะความปลอดภัยเสมือนสร้างผืนผ้าแห่งความปลอดภัยผืนเดียวที่มีคุณสมบัติครบ 5 ประการ คือ Scalability Awareness Security Actionable และ Open

ทั้งนี้ ในการตรวจพบ และหยุดภัยคุกคามในเครือข่ายให้ได้นั้น ซิเคียวริตีแฟบลิกไม่เพียงแต่จะต้องมีสเกล (Scale) ที่ยืดหยุ่นสูง เพื่อรองรับต่อความต้องการด้านประสิทธิภาพ และขนาดต่างๆ แต่ยังต้องสามารถปรับแต่งเพื่อการป้องกันในทุกที่ได้อย่างราบรื่น โดยฟอร์ติเน็ต กำลังนำเสนอโซลูชันด้านความปลอดภัยเพื่อปกป้องพื้นที่ทุกตารางนิ้วบนโครงข่าย ทั้งเครือข่ายตามสาย และไร้สาย อุปกรณ์ IoT และผู้ใช้งานปลายทาง สำหรับโมเดลคลาวด์ที่เป็นพับลิก และไฮบริด

ซิเคียวริตี้แฟบลิคทำงานเหมือนเป็นส่วนเดียวกัน จึงสามารถรับรู้ (Awareness) ได้ทั้งตามประเภทอุปกรณ์ ผู้ใช้งาน คอนเทนต์ และข้อมูลที่เข้ามา และออกนอกเครือข่าย สามารถเห็นแพตเทิร์นของทราฟฟิกอย่างชัดเจน คุณสมบัตินี้จะช่วยลดต้นทุนทั้งในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหาร และการสร้างกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยใหม่ๆ

ในส่วนความปลอดภัย (Security) ผู้บริหารเครือข่ายต้องการเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเครือข่าย และการที่สามารถเห็นข้อมูลต่างๆ จากแหล่งต่างๆ ทางจอเดียวกันของซิเคียวริตีแฟบลิกนี้ เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีระบบปฏิบัติการ FortiOS. เฉพาะของฟอร์ติเน็ต ที่พัฒนาขึ้นเพื่อดักตรวจทราฟฟิกอย่างลึก สามารถรวบรวมเป็นข้อมูลความปลอดภัย และส่งไปยังศูนย์วิเคราะห์ภัยฟอร์ติการ์ด แล็บส์ (FortiGuard Labs) ที่ทำหน้าที่สร้าง และส่งอัปเดตออกให้ทั่วระบบอย่างอัตโนมัติ และรวดเร็ว ระบบการวิเคราะห์ที่ละเอียด รวดเร็ว สามารถลงมือจัดการ (Actionable) ตรวจสอบ ตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว และลดภัยคุกคามได้ทุกที่

นอกจากนี้ ซิเคียวริตีแฟบลิกยังออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับพันธมิตรอีโคซิสเต็ม และผู้ให้บริการโซลูชันได้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมโครงข่ายที่ลงทุนได้เต็มที่ ฟอร์ติเน็ต จึงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรทั่วโลก เพื่อพัฒนา API แบบเปิด (Open) โดยล่าสุด ฟอร์ติเน็ต ได้ประกาศความร่วมมือกับคาร์บอนแบล็ก (Carbon Black) เพื่อให้ลูกค้าองค์กรมีระบบความปลอดภัยแบบออโตเมต และสามารถควบคุมต่อสู้กับภัยคุกคามชั้นสูงได้

ซีอุส เคราเวล่า หัวหน้านักวิเคราะห์ แห่ง ZK Research กล่าวว่า โมบิลิตี คลาวด์ และ IoT ได้ทำให้ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกมาก ผลการสำรวจ 2015 ZK Research Security Survey พบว่า ผู้ตอบจำนวน 43% ยอมรับว่า ได้ลดคุณสมบัติด้านความปลอดภัยในอุปกรณ์ลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อุปกรณ์ที่ใช้อยู่นั้นไม่สามารถรองรับต่อภัยคุกคามขั้นสูงได้ จึงทำให้กลยุทธ์แบบเดิมๆ ขาดประสิทธิภาพ องค์กรธุรกิจจึงควรใช้ซิเคียวริตีแฟบลิกเพื่อความปลอดภัยที่ดี โดยไม่ต้องแลกต่อความเร็วการทำงานของเครือข่ายที่ต้องต่ำลง

ในส่วนของฟอร์ตนิเน็ต ในปี 2015 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง แต่ฟอร์ติเน็ต มีการเติบโต 37% มีรายได้ประมาณ 1.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2016 จะมีการเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา ในส่วนของประเทศไทยในปี 2015 มีการเติบโตประมาณ 25% โดยคาดว่าสิ้นปี 2016 จะมีการเติบโตมากกว่า 30%